1.ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ดอกเบี้ยไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตนในเรื่องของการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยสำนักงานประกันสังคมร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดจากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน” วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี


2.เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค โดยร่วมกับสถานพยาบาลที่บันทึกข้อตกลงร่วมมือการให้บริการ จำนวน 10 แห่ง แบ่งตามกลุ่มบริการ 1. การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 2. ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก 3. ผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี 4. หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 5. หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด





3.ฟรีค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ซึ่งได้มีการ Kickoff โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนในสถานประกอบการไปแล้วโดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนเชิงรุก โดยร่วมมือกับสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก ดังนี้ 1.เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ 2.แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย 3.โรงพยาบาลนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน 4.ติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม


4.ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย โดยกำหนดให้มีเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสียอยู่ที่ 200 ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบ ในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสีย และการเรียกเก็บเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 22 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว การแก้ไขหลักเกณฑ์นี้ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ


เป็นยังไงกันบ้างกับสิ่งที่อินฟินิตี้นำมาแชร์ในวันนี้ อย่าลืมเช็คสิทธิกันนะทุกคน

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม